ชีวประวัติ ของ เกา ก๋ง

บรรพบุรุษของเกา ก๋งหนีจากความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์หยวน ย้ายไปที่เมืองซินเจิ้ง (新郑市) ในมณฑลเหอหนาน

เกา ก๋งเกิดในตระกูลข้าราชการ ได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างเข้มงวดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 7 (ค.ศ. 1528) เกา ก๋งได้อันดับที่ห้าในการสอบมณฑลเหอหนาน

ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 20 (ค.ศ. 1541) เกา ก๋งสอบผ่านระดับจิ้นซื่อ (进士) และได้รับเลือกให้เป็น ซูจี่ซื่อ (庶吉士)

ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 21 (ค.ศ. 1542) เกา ก๋งได้เป็น เปียนชวิน (编修) ประจำสำนักฮั่นหลิน

ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 39 (ค.ศ. 1560) เกา ก๋งได้เป็นสมุหไท่ฉ่างซื้อ (太常寺卿 "ไท่ฉ่างซื้อชิง")

ในเดือนมีนาคม รัชศกเจียจิ้งปีที่ 45 (ค.ศ.1566) เกา ก๋งได้ถูกเลือกโดยโฉวฝู่ซู่เจี๋ย (徐阶) ให้ดำรงตำแหน่งมหาอำมาตย์ศาลาเหวินหยวน (文渊阁大学士)

ในเดือนธันวาคม รัชศกหลงชิ่งปีที่ 3 (ค.ศ.1569) เกา ก๋งได้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (吏部尚書)

เกา ก๋งเป็นผู้ส่งเสริมให้อิน เจิ้งเหม่า (殷正茂) ได้เป็นอุปราช (总督) ประจำมณฑลยูนนาน และยังแนะนำให้พาน จี่ซุ่น(潘季驯) ดูแลแม่น้ำเหลือง นอกจากนี้เกา ก๋งได้เปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงกลาโหม (兵部 "ปิงปู้") จาก หนึ่งเสนาบดีว่าการ สองเสนาบดีช่วย เป็นหนึ่งเสนาบดีว่าการ สี่เสนาบดีช่วย


เกา ก๋ง และจาง จฺวีเจิ้งพบกันครั้งแรกเมื่อพวกเขารับราชการในราชวิทยาลัย (国子监 "กั่วจือเจียน") เมื่อหมิงซื่อจงสวรรคต โฉวฝู่ซู่เจี๋ยได้เรียกลูกศิษย์จาง จฺวีเจิ้งมาร่วมเขียนพระราชโองการหลังสวรรคตของหมิงซื่อจง โดยไม่ได้เรียกเกา ก๋งมาร่วมเขียนด้วย หลังจากนั่นทั้งสองก็เริ่มขัดแย้งกัน รัชศกหลงชิ่งปีที่ 5 เกา ก๋งถูกเป่าหูโดยพรรคพวกว่าจาง จฺวีเจิ้ง รับสินบน 30,000 ตำลึงจากโฉวฝู่ซู่เจี๋ย จึงทำให้ความบาดหมางมากขึ้นไปอีก

เมื่อจูอี้จุนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ จาง จฺวีเจิ้งได้วางแผนให้เฟิ่ง เป่าอินเป็นผู้ทูลต่อหลี่หวงกุ้ยเฟย และเฉินหวงโฮ่ว กล่าวหาว่าเกา ก๋งใช้อำนาจโดยมิชอบและผูกขาดอำนาจ คิดจะตั้งตนเป็นใหญ่[2] ในช่วงเช้าของวันที่ 16 มิถุนายน มีการเรียกประชุมขุนนาง เมื่อเกา ก๋งเดินมาถึงประตูฮุ่นจี่ (会极门) ขันทีหวัง เจิน (王榛) ได้อ่านประกาศประณามว่ามหาอำมาตย์เกากงเผด็จการปกครอง เขาได้ยึดอำนาจเกียรติยศทั้งหมดของราชสำนักไว้ที่ตัวเอง และไม่ยอมรับอำนาจของจักรพรรดิ เมื่อเกา ก๋งได้ฟังจบก็หน้าซีดเผือด เหงื่อตกราวกับสายฝน และไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ จาง จฺวีเจิ้งได้เดินมาประคองให้ลุกขึ้น ทั้งนี้เกา ก๋งเกือบได้รับโทษประหารโชคดีที่ หยาง ปั่ว (杨博) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และขุนนางคนอื่นๆ ได้ช่วยเขาไว้จึงรอดตาย เกา ก๋งออกจากตำแหน่งกลับบ้านเกิด[3]

ก่อนที่เกา ก๋งจะเสียชีวิต ได้เขียน (病榻遗言) สี่เล่มโดยบรรยายถึงการสมรู้ร่วมคิดของจาง จฺวีเจิ้ง กับเฟิ่ง เป่าอิน (冯保阴) เพื่อชิงตำแหน่งโฉวฝู่ เขาอธิบายว่าจาง จฺวีเจิ้งเป็นคนที่หน้าเนื้อใจเสือและชั่วร้าย[4] ภายหลังที่จาง จฺวีเจิ้งถึงแก่กรรมงานเขียนนี้ถูกตีพิมพ์อย่างแพร่หลายกระตุกให้จักรพรรดิว่านลี่ยกเลิกนโยบายของจาง จฺวีเจิ้ง[5]

ในรัชศกว่านลี่ปีที่ 5 (ค.ศ. 1577) จาง จฺวีเจิ้งเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของเขาที่เทศมณฑลเจียงหลิง ในมณฑลหูเป่ย์เพื่อฝังศพของบิดา ด้วยเหตุที่ต้องเดินทางผ่านบ้านเกิดของเกา ก๋ง จาง จฺวีเจิ้งจึงถือโอกาสไปเยี่ยมเกา ก๋งด้วย และเมื่อทั้งสองพบกันก็ได้ร้องไห้

ในวันที่ 2 กรกฎาคม รัชศกว่านลี่ปีที่ 6 (ค.ศ. 1578) เกา ก๋งถึงแก่กรรมที่บ้านเกิดเมืองซินเจิ้งในมณฑลเหอหนาน เมื่ออายุได้ 67 ปี[6]

ภายหลังจากที่เกา ก๋งถึงแก่กรรมในรัชศกว่านหลี่ปีที่ 30 (ค.ศ. 1602) จักรพรรดิว่านลี่ได้มอบตำแหน่งไท่ซือ (太师) ให้กับเกา ก๋ง และพระราชทานสมัญญานามว่า เหวินเซียง (文襄) [7][8]